article
articleกินป้องกันโรคกระดูกพรุน
กินป้องกันโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่เกิดจากการมีเนื้อกระดูกบางลง โรคกระดูกพรุนมักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยทอง เนื่องจากร่างกายเริ่มมีการทำลายเนื้อกระดูกมากกว่าการสร้างทำให้กระดูกเปราะบางแตกหักง่าย
ถ้าคุณไม่อยากกระดูกพรุนก็ต้องสะสมแคลเซียมให้กับตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก และควรสะสมให้เพียงพอตลอดอายุขับ เพราะแคลเซียมเป็นโครงสร้างสำคัญของกระดูก แคลเซียมมีมากในนม เนยแข็ง โยเกิร์ต ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง เต้าหู้ ผักกาดเขียว บร็อคโคลี ฯลฯ โดยแต่ละวันคนเราต้องการแคลเซียมประมาณ 800-1,200 มิลลิกรัม ผู้ที่ได้รับแคลเซียมจากอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ไม่ได้รับแสงแดด ซึ่งเป็นแหล่งของวิตามินดีและไม่ได้ออกกำลังกายเลย มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน
คุณจะทราบได้อย่างไรว่า “โรคกระดูกพรุน” เริ่มมาเยือนแล้ว?
การที่โรคกระดูกพรุนจะมาเยือนนั้น จะไม่มีอาการใดๆเป็นสัญญาณเตือนภัยให้ทราบล่วงหน้าเลย แต่การขาดแคลเซียมซึ่งจะนำไปสู่การเป็นโรคกระดูกพรุนนั้นมีสัญญาณเตือนบอกให้รู้ตัวล่วงหน้าคือ จะเกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อและเป็นตะคริว อันเนื่องมาจากการหดตัวของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติหากร่างกายยังไม่ได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ ร่างกายจะดึงเอาแคลเซียมจากกระดูกมาใช้ เมื่อนั้นแหละที่ “โรคกระดูกพรุน” จะมาเยือน
ร่างกายเราสามารถได้รับแคลเซียมจากการรับประทานอาหารประจำวันที่มีแคลเซียมสูงดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยเฉพาะในนมและผลิตภัณฑ์นม ผู้ใหญ่ในปัจจุบันส่วนใหญ่มักดื่มนมไม่ค่อยได้ การดื่มนมถั่วเหลืองอาจช่วยทดแทนได้บ้างแม้จะไม่มากก็ตาม เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายจะดูดแคลเซียมจากอาหารไปใช้ได้น้อย ทำให้ร่างกายดึงเอาแคลเซียมจากกระดูกมาใช้ ส่งผลให้กระดูกพรุนได้ โดยเฉพาะผู้หญิงที่หมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติยิ่งมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนได้มากขึ้น
ความสำคัญของแคลเซียมไม่ใช่แค่เสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรงเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยในการทำงานของเซลระบบประสาทและสมอง รวมทั้งสารสื่อประสาท และช่วยในการแข็งตัวของเลือด
นอกจากแคลเซียมจำเป็นต่อกระดูกแล้ว ผู้หญิงควรให้ความสำคัญกับแมกนีเซียมด้วย เพราะแมกนีเซียมจะช่วยดูดซึมแคลเซียม เช่นเดียวกับวิตามินดีที่ร่วมสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูก เพราะแคลเซียมจะช่วยเพิ่มเนื้อของกระดูกขณะที่แมกนีเซียมช่วยสร้างส่วนของแมทริกซ์ ซึ่งเป็นส่วนที่เนื้อเยื่อกระดูกฝังอยู่ ถ้าขาดแมกนีเซียมร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมไม่ได้ แม้จะรับประทานแคลเซียมมากก็ตาม ดังนั้นจึงควรรับประทานผักใบเขียว ซึ่งเป็นแหล่งของแมกนีเซียมและแคลเซียม
อย่าคิดว่าแคลเซียมไม่สำคัญ...รับประทานแคลเซียมให้เพียงพอเสียตั้งแต่วันนี้ โดยเฉพาะแคลเซียมที่ได้จากอาหารธรรมชาติ รวมทั้งรับประทานอาหารที่มีแมกนีเซียมให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพาตัวเองออกไปรับแสงแดดยามเช้าเพื่อรับวิตามินดีบ้าง ก่อนที่โรคกระดูกพรุนจะมาเยือนคุณ
ขอขอบคุณที่มาจาก หนังสือกินเพื่อสุขภาพ คู่มือเพื่อคนรักสุขภาพ โดย ผศ.ดร.ชนิดา ปโชติการ
02 พฤศจิกายน 2560
ผู้ชม 1366 ครั้ง